ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ |
|||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
มาตรา 1697 ถ้าผู้ทำพินัยกรรมมิได้แสดงเจตนาไว้ในพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น และปรากฏว่าพินัยกรรมฉบับก่อนกับฉบับหลังขัดกัน ให้ถือว่าพินัยกรรมฉบับก่อนเป็นอันเพิกถอนโดยพินัยกรรมฉบับหลัง เฉพาะในส่วนที่มีข้อความขัดกันนั้นเท่านั้น
|
|||||||||
คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2832 - 2833/2558 เมื่อพินัยกรรมมีผลบังคับได้ตามกฎหมายทั้งสองฉบับ และปรากฏว่าพินัยกรรมขัดกันเฉพาะบางส่วน ป.พ.พ. มาตรา 1697 ให้ถือว่าพินัยกรรมฉบับก่อนเป็นอันเพิกถอนโดยพินัยกรรมฉบับหลังเฉพาะในส่วนที่มีข้อความขัดกันเท่านั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8055/2556 ทรัพย์มรดกที่ ด. ได้รับจากกองมรดกของ ธ. เป็นที่ดิน ซึ่งผู้จัดการมรดกของ ธ. ได้ดำเนินการขายที่ดินทรัพย์มรดกเพื่อแบ่งเงินแก่ทายาทของ ธ. เป็นคราว ๆ และ ด. ได้รับเงินส่วนแบ่งมรดกดังกล่าวด้วย เมื่อ ด. ได้รับเงินส่วนแบ่งมรดกของ ธ. แล้ว ก็หาได้ระบุกันเงินส่วนดังกล่าวไว้ต่างหากเป็นพิเศษไม่ เงินที่ ด. ได้รับจากกองมรดกของ ธ. จึงระคนกับเงินส่วนอื่นที่ ด. มีอยู่ ไม่อาจถือเป็นทรัพย์สินเฉพาะสิ่งเฉพาะอย่างได้ การที่ ด. ทำพินัยกรรมฉบับก่อนยกเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ จึงหาเป็นพินัยกรรมลักษณะเฉพาะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1651 (2) ไม่ เมื่อต่อมา ด. ได้ทำพินัยกรรมฉบับหลังยกเงินจำนวนเดียวกันให้จำเลยอีก ข้อความของพินัยกรรมทั้งสองฉบับที่ระบุให้เงินของ ด. ตกแก่ทายาทต่างคนกันจึงขัดกัน และ ด. ผู้ทำพินัยกรรมมิได้แสดงเจตนาในพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น กรณีจึงต้องด้วยมาตรา 1697 ที่ให้ถือว่าพินัยกรรมฉบับก่อนเป็นอันเพิกถอนโดยพินัยกรรมฉบับหลัง โจทก์จึงหามีสิทธิใด ๆ ในทรัพย์มรดกของ ด. ไม่ เพราะสิทธิของโจทก์ถูกยกเลิกไปแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6981/2545 การเพิกถอนพินัยกรรมทั้งหมดหรือบางส่วนโดยผู้ทำพินัยกรรมนั้น กฎหมายกำหนดวิธีการไว้ 4 กรณี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1694 ถึง 1697 คือ ทำพินัยกรรมฉบับหลังขึ้นมาเพิกถอนพินัยกรรมฉบับก่อน การทำลายหรือขีดฆ่าพินัยกรรมด้วยความตั้งใจ การโอนหรือทำลายทรัพย์สินอันเป็นวัตถุแห่งข้อกำหนดพินัยกรรมด้วยความสมัครใจ และการทำพินัยกรรมฉบับหลังมีข้อความขัดกันกับพินัยกรรมฉบับก่อน การที่ผู้ตายทำหนังสือยืนยันรับรองเอกสารแม้จะมีเจตนาเพื่อเพิกถอนหรือไม่รับรองพินัยกรรมที่ทำไว้แล้ว แต่เมื่อหนังสือยืนยันรับรองนั้นไม่มีลักษณะเป็นพินัยกรรมแล้ว ย่อมไม่มีผลเป็นการเพิกถอนพินัยกรรมที่ทำไว้แต่อย่างใด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2389/2540 ข้อความตามที่ปรากฏในคำสั่งและสัญญาของผู้ฝากเงินทั้งเจ้ามรดกและจำเลยที่ 2 ต่างแจ้งเจตนาต่อธนาคารว่า ต่างประสงค์จะยกเงินฝากในส่วนของแต่ละคนให้อีกฝ่ายหนึ่งถ้าตนถึงแก่กรรมก่อนอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งมีลักษณะเป็นการกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของแต่ละคน จึงมีต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน และพยานทั้งสองคนนั้นลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้น จึงเป็นพินัยกรรมที่ทำถูกต้องตามแบบในป.พ.พ.มาตรา 1656 วรรคหนึ่ง ย่อมมีผลบังคับได้ตามกฎหมาย หากเจ้ามรดกถึงแก่กรรม เงินสดตามบัญชีเงินฝากในส่วนของเจ้ามรดกย่อมตกได้แก่จำเลยที่ 2แต่ต่อมาเจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมฉบับพิพาทขึ้นอีกฉบับหนึ่ง ตามเอกสารหมาย จ.6ยกทรัพย์สมบัติที่เป็นเงินจำนวน 1,000,000 บาท แก่โจทก์ โดยให้จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้จัดการมรดก จ่ายเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินสดจากบัญชีของเจ้ามรดกเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่กรรมแล้ว จึงเห็นได้ว่าพินัยกรรมฉบับแรกดังกล่าวขัดกับพินัยกรรมตามเอกสารหมาย จ.6 ในข้อที่ว่า จำเลยที่ 2 จะเป็นผู้ได้รับเงินในบัญชีเงินฝากส่วนที่เป็นมรดกของเจ้ามรดกทั้งหมด หรือจำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกจะต้องแบ่งเงินในบัญชีดังกล่าวส่วนที่เป็นมรดกของเจ้ามรดกแก่โจทก์เป็นจำนวน 1,000,000 บาท ตามพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.6ซึ่งทำขึ้นภายหลัง จึงต้องถือว่าพินัยกรรมฉบับแรกเป็นอันเพิกถอนโดยพินัยกรรมตามเอกสารหมาย จ.6 ในส่วนที่มีข้อความขัดกัน คือเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับเงินจำนวน 1,000,000 บาท ที่จะต้องตกได้แก่โจทก์เท่านั้น ตาม ป.พ.พ.มาตรา1697 จำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส.เจ้ามรดกต้องแบ่งมรดกของเจ้ามรดกเป็นเงินสดจากบัญชีเงินฝากแก่โจทก์ จำนวน 1,000,000 บาท |